จาก ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 29/01/07
อิคูจิโร โนนากะ กล่าวไว้ว่า มนุษย์คือผู้สร้างความรู้ KM คือวิถีการดำเนินชีวิตของคน
การจัดการความรู้เพื่อให้คนได้เข้าถึงและใช้ความรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพกำลังเป็นที่สนใจในแทบทุกองค์กร
ถือว่าเป็นแนวโน้มใหม่ที่พูดกันมากยิ่งขึ้นทุกวันในองค์กรในประเทศไทย
แล้วการจัดการความรู้ หรือ knowledge management หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า KM มีประโยชน์อย่างไร ?
ศาสตราจารย์ "อิคูจิโร โนนากะ" ผู้เชี่ยวชาญด้าน KM ระดับโลก ที่ล่าสุดได้มาร่วมงาน APO
International Productivity Conference 2007 ได้ให้แนวคิดว่า แนวคิด KM หรือถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง
ต้องเรียกว่า knowledge base management (KMB) หรือการจัดการจากมุมมองความรู้นั้นมีความสำคัญ
และองค์กรต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้
KMB ถือเป็นวิธีคิดในศตวรรษที่ 21 ที่เป็นกระบวนทัศน์ (paradigm) ใหม่ ซึ่งแตกต่างจากการจัดการอย่างอื่น
เช่น รีเอ็นจิเนียริ่งซึ่งนิยมกันเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เพราะเป็นเพียงภาคปฏิบัติ
ไม่ได้มีแนวคิดหรือทฤษฎีรองรับ แต่ KMB ทำให้เกิดความรู้
ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะของความรู้ที่มีทฤษฎีรองรับ
โดยความรู้นั้นมี 2 ประเภทคือ tacit และ explicit
tacit knowledge เป็นเรื่องการเรียนรู้โดยส่วนตัว เมื่อทำงานก็เกิดเรียนรู้
และความรู้นั้นมีคุณค่าต่อตัวเขา
ส่วน explicit knowledge เป็นความรู้ที่มีการจัดระบบ ฉะนั้นอาจจะต้องเอาอุปกรณ์มาช่วย เช่น ไอที
จะมีความเป็นรูปธรรม
แล้วทฤษฎีที่รองรับ KMB คืออะไร ?
"โนนากะ" ชี้ว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงระหว่าง tacit Knowledge กับ explicit Knowledge
ซึ่งจะเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้อย่างเหมาะสม
"ถ้าคนเรามีแต่ tacit knowledge หรือการเรียนรู้แต่เฉพาะตัว อยู่กับตัวเองนานๆ
ในที่สุดจะมีความเบี่ยงเบนหรือเพี้ยนได้ เพราะว่ารู้คนเดียว"
ในขณะที่เรื่องของ explicit knowledge เกิดจากการวิเคราะห์ เกิดจากการแลกเปลี่ยนระหว่างคนทำงาน
หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ความรู้อย่างนั้นเมื่อมีการแลกเปลี่ยนจะมีความเป็นสากล
โดยการเปลี่ยนแปลงจาก tacit เป็น explicit นั้นเกิดจากปัจจัยหลายตัว เช่น วิสัยทัศน์ของผู้นำ
การได้ทำงานจริง การมีสินทรัพย์ทางด้านความรู้ (asset knowledge) การพูดคุยของคนที่ทำงานด้วยกัน
หรือสภาพแวดล้อม โดยจะใช้ Ba หรือเวทีที่มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งอาจจะเป็นเวที ที่คนทำงานพบกัน
หรือใช้เครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
"ถ้าเกิดมีการแลกเปลี่ยนอย่างแท้จริง ความรู้ที่มีส่วนตัวก็จะถูกนำมาพิจารณา
เทียบเคียงกับประสบการณ์ของผู้เกี่ยวข้อง ความรู้ก็จะมีลักษณะที่กว้างขวางมากขึ้น
เมื่อมีการแลกเปลี่ยนความรู้ จากความรู้ส่วนตัวก็จะกลายเป็นความรู้ของทีมงาน และเกิดการขยายวงความรู้
เมื่อทำแบบนี้เรื่อยๆ ความรู้ก็จะกลายเป็นความรู้ระดับองค์กร
เราจะได้ความรู้ที่มีทั้งคุณภาพและปริมาณ"
"โนนากะ" เน้นในเรื่องการสร้างความรู้ใหม่
แนวคิดนี้อยู่ในโมเดลที่เรียกว่า SECI model คือกระบวนการหมุนไปหมุนมาระหว่าง tacit กับ explicit
มุ่งเน้นให้เกิดความรู้ระดับองค์กรเป็นหลัก ไม่ใช่แค่ความรู้ในระดับใดระดับหนึ่ง
โดยผู้บริหารทุกระดับชั้นมีบทบาทสำคัญ
สำหรับผู้บริหารแบบตะวันตกอย่างอเมริกามักจะมองผู้บริหารระดับกลางว่าไม่ค่อยมีประโยชน์
เป็นก้อนเนื้อร้าย (cancer) ทำให้เสียเงินเสียทอง แต่ถ้ามองในมุมของ "โนนากะ" นั้น
ผู้บริหารระดับกลางจะเป็นจุดเชื่อมต่อของกลยุทธ์ (strategic knot) เชื่อมต่อระดับบนกับระดับล่าง
ผู้บริหารระดับบนจะเป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์หรือความฝัน
ผู้บริหารระดับกลางจะเอาวิสัยทัศน์หรือความฝันนั้นมาแปลงเป็นแนวคิดในภาคปฏิบัติ
รวมทั้งต้องแก้ปัญหาที่ไม่สอดคล้องกันของความฝันระดับบนที่ยังไม่สอดคล้องกับระดับล่าง
"ผู้บริหารระดับกลางมีความสำคัญในการสร้าง KMB เพราะนำเอาวิสัยทัศน์มาสร้างเป็นแนวทางปฏิบัติ
คีย์สำคัญอยู่ที่การพัฒนาผู้บริหารระดับกลาง"
ในการบริหารโครงการของบริษัทชั้นนำของโลกนั้น cross-functioal team หรือ multi-global team
เช่นบริษัทข้ามชาติจะดึงคนในแต่ละประเทศมาเป็นทีมพัฒนาสินค้า ซึ่งจะต้องดึงคนจากที่ต่างๆ มาฟอร์มเป็นทีม
ซึ่งตัวผู้นำกลุ่มหรือ project leader ผู้บริหารระดับกลางที่นำโครงการจะต้องมีการพัฒนา high-emotional
knowledge
ทำไม ?
ทุกคนย่อมมี tacit knowledge แต่เวลาแลกเปลี่ยนความรู้กัน คนเราไม่ได้แลกเปลี่ยนแค่ข้อมูล
แต่ยังแลกเปลี่ยนความเอาใจใส่กัน (care) แลกเปลี่ยนความรัก love แลกเปลี่ยนความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
(trust) และแลกเปลี่ยนความปลอดภัย (safety) ซึ่งเป็นพื้นฐานของ tacit knowledge
"4 เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะคือทุนทางสังคม (social capital)"
ถ้าไม่มี 4 ตัวนี้ เราจะไม่มีการแลก tacit knowledge กัน เพราะคนไม่ไว้ใจ รู้สึกไม่ปลอดภัย
รู้สึกว่าถูกละเลย หรือถูกปฏิบัติไม่ดี
โดยเฉพาะสังคมตะวันตก พอใช้ไอทีมากๆ เข้าก็ละเลยทุนทางสังคม ซึ่งทุนทางสังคมก็คือ high-emotional
knowledge
"คนที่เป็นผู้นำ เป็นผู้บริหารโครงการ จะต้องเน้นตัวนี้ให้มากๆ
แล้วเขาก็จะสามารถจูงใจให้คนในทีมมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน"
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าผู้บริหารระดับกลาง ถ้ามี high-emotional knowledge และ tacit knowledge มากๆ
ก็จะสามารถทำให้ทีมทำงานได้ และที่สำคัญคือผู้บริหารทีมหรือผู้บริหารโครงการจะต้องมีทักษะอื่นประกอบด้วย
เช่น ทักษะการเจรจาต่อรอง (political skill) ต้องสื่อสารให้คนเข้าใจ
การที่ผู้บริหารโครงการมี high quality tacit knowledge จะบ่งบอกถึงความสามารถในการแข่งขันขององค์กร
ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาผู้บริหารระดับกลางให้มีทักษะ ให้มีประสบการณ์ ให้มีความคิดสร้างสรรค์ และให้มี
high-emotional knowledge
มนุษย์หรือคนเป็นผู้สร้างความรู้ ไม่ได้เป็นเพียงตัวประมวลผล ทำตัวเหมือนเครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์
ดังนั้น tacit knowledge เป็นเรื่องสำคัญมาก
แต่เครื่องมือด้านไอทีก็ใช้ได้ในการช่วยในเรื่องแลกเปลี่ยนข้อมูล
"เราต้องไม่ลืมบทบาทของมนุษย์ ว่ามนุษย์คือผู้ที่สร้างความรู้ เรามองว่าคำว่าการบริหารงานนั้น
ไม่ใช่เป็นการบริหารเพื่อหาเงินอย่างเดียว เพราะแท้จริงแล้ว การบริหารงานคือวิถีชีวิต"
ผู้บริหารระดับสูงมีวิสัยทัศน์ก็ต้องบอกกล่าววิสัยทัศน์ให้กับพนักงานรับรู้ เป็นชีวิตประจำวัน
และเมื่อมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กัน มันแสดงถึงความมีตัวตนของการเป็นมนุษย์
เพราะมนุษย์เป็นผู้สร้างความรู้
"แต่ที่สำคัญคือ ความรู้เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม ฉะนั้นต้องมีทั้งสองด้านอย่างสมดุล
นามธรรมอาจจะหมายถึงวิสัยทัศน์ รูปธรรมก็คือการปฏิบัติ ถ้าสิ่งที่เป็นนามธรรมคือการวิเคราะห์
รูปธรรมคือต้องมีประสบการณ์จริง ดังนั้นความรู้จะต้องมีทั้งรูปธรรม นามธรรม"
"โนนากะ" ชี้ว่า ในระดับประเทศ tacit knowledge นั้นมีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่หรือสังคม
ดังนั้นผู้บริหารไทยไม่ควรไปเลียนแบบการจัดการของญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป หรือประเทศใดเลย เพราะ knowledge
way เป็นเรื่องเจาะจงของสังคมนั้นๆ
"สิ่งที่คาดหวังคือประเทศไทยน่าจะสร้าง knowledge ของประเทศ
และเมื่อสร้างแล้วจะต้องมีผลลัพธ์ที่ดีคือประชาชนมีความสุข"
ถ้าไทยจะใช้ KM ในระดับประเทศจะทำอย่างไร ?
"โนนากะ" มีมุมมองว่า สามารถไปศึกษาระบบการจัดการของยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เพื่อ
ดูว่าจุดเด่นอยู่ตรงไหน แล้วนำมาปรับใช้ในประเทศไทย
แต่อย่างไรก็ตาม ต้องถามตัวเองก่อนว่า ประเทศไทยมีวิสัยทัศน์ไหม ? มีประเทศไทยในโลกไว้ทำไม ?
หมายความว่า ประเทศไทยมีประโยชน์อย่างไรต่อโลก ดังนั้นเราต้องพยายามหาเอกลักษณ์ของประเทศไทย
ต้องมาศึกษาให้ชัดเจนว่าประเทศไทยมีประโยชน์ต่อโลกนี้อย่างไร โดยต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน
"การที่บอกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาจึงไม่มีความหมาย เราจะต้องบอกว่า
ประเทศไทยมีเอกลักษณ์อะไร ในสภาพที่เป็นอยู่ เป็นประเด็นที่ชัดเจนกว่า"
"โนนากะ" ชี้ว่า เมื่อมีวิสัยทัศน์แล้ว จะต้องมากำหนดเป็นกรอบ (domain)
แล้วก็เอามาสร้างเป็นคอนเซ็ปต์ จากคอนเซ็ปต์ก็สร้างเป็นการปฏิบัติ (practice) ซึ่งนำไปสู่วิธีการ (mean)
โดยสิ่งเหล่านี้จะเชื่อมโยงกันหมด
"บริษัทญี่ปุ่นเองพยายามที่จะมุ่งให้บรรลุ วิสัยทัศน์อย่างต่อเนื่อง บริษัทญี่ปุ่นทำให้เกิด
นวัตกรรม แต่บริษัทตะวันตกมุ่งเน้นตลาดซึ่งจะได้ความสะดวกในระยะสั้น"
"โนนากะ" ย้ำว่า สำหรับประเทศไทยต้องมาพูดคุยให้ชัดเจนถึงประเด็นพื้นฐานว่า
ประเทศไทยมีประโยชน์ต่อโลกนี้อย่างไร ?
"ความรู้ทำให้ความเชื่อนั้นมีเหตุมีผล (know ledge justify believe) KBM
จึงไม่ใช่เป็นแค่การแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูล แต่เป็น way of life
เป็นวิถีการดำเนินชีวิตของคน"
เรื่องการจัดการความรู้ในองค์กรไม่ใช่เรื่องที่จะละเลยอีกต่อไปแล้ว ?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น