ตัวบ่งชี้การจัดการความรู้ที่ดี
อ.จิรัชฌา วิเชียรปัญญา ส่งร่างเอกสาร "การพัฒนาตัวบ่งชี้รวมสำหรับการจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพ" เป็นเอกสารหนา 14 หน้ามาให้ผมให้ความเห็น อ.จิรัชฌายกร่างมาอย่างละเอียดและซับซ้อนมาก เนื่องจากจะเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ทำให้ผมสงสัยว่า indicators สำหรับ KM ที่ดีน่าจะมีหลายชุด
- ชุดวิทยานิพนธ์
- ชุดองค์กรที่เพิ่งเริ่มทำ KM
- ชุดองค์กรที่ทำ KM จนเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปแล้ว
- ฯลฯ
indicators ชุดวิทยานิพนธ์อาจมีรายละเอียดมากหน่อย เน้นทฤษฎีมากหน่อย ส่วน indicators ชุดใช้งานน่าจะมีตัวชี้วัดน้อยตัวที่สุด ใช้ง่ายที่สุด เสียเวลาน้อย แต่ช่วยบอกว่า "สุขภาพ" ของ KM ตรงตามที่ต้องการหรือไม่
ผมเองมีอคติเรื่องการประเมิน ว่าต้องใช้การประเมินสำหรับเป็นเครื่องมือในการทำงาน ให้ทำได้ตรงทาง การประเมินช่วยชี้ว่าเราหลงตรงไหน โหว่ตรงไหน อ่อนตรงไหน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติปรับปรุง ไม่ใช่ประเมินเพื่อประเมิน ผมเคยเห็นการประเมินแบบขี่ช้างจับตั๊กแตนบ่อยๆ ที่ประเมินมากมาย ลงทุนลงแรงไปมาก แต่ใช้ผลการประเมินนิดเดียว
ผมจึงมองว่าตัวบ่งชี้ควรมี 2 ระดับ
(1) ระดับกลางๆ ระดับภาพรวม เป็นตัวบ่งชี้กว้างๆ และเป็นตัวหลักๆ ใช้ได้ในทุกกรณี ซึ่งน่าจะมีอยู่ไม่กี่ตัว
(2) ระดับภาพลึกหรือภาพเฉพาะกรณี ซึ่งจะต้องคิดขึ้นตามสภาพ, ระยะ (phase), และเป้าหมายของ KM ในขณะนั้น ตัวบ่งชี้กลุ่มนี้จะต้องคิดขึ้นในตอนนั้น
อีกประการหนึ่ง ตัวบ่งชี้ควรมีการให้น้ำหนัก (weight) ไม่เท่ากัน
ตัวบ่งชี้น่าจะคิดขึ้นตาม KM Model ที่ใช้ เช่น ถ้าใช้โมเดลปลาทู ตัวบ่งชี้น่าจะมี 5 ส่วน
1. Desired State หรือ Purpose/Vision ขององค์กร
2. KV
3. KS
4. KA/Core Competence
5. ผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ของงาน
Desired State
- มีการกำหนด Desired State/Purpose/Vision ขององค์กรไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่
- มีความชัดเจนเข้าใจง่ายหรือไม่
- มีการนำมากล่าวย้ำ หรือทำความเข้าใจ/ตีความในบริบทหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ขององค์กรหรือไม่
- ใครบ้างนำเอาข้อความนี้มากล่าวถึง
KV - Knowledge Vision
- มีการกำหนด KV ขององค์กรไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่
- ข้อความสอดคล้องกับ Desired State หรือไม่
- มีความชัดเจนเข้าใจง่ายหรือไม่
- มีการนำมากล่าวย้ำหรือทำความเข้าใจ/ตีความในบริบทหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ขององค์กรหรือไม่
- ใครบ้างนำข้อความนี้มากล่าวถึง
KS - Knowledge Sharing- การแลกเปลี่ยนเรียนรู้บน "พื้นที่จริง"
- การแลกเปลี่ยนเรียนรู้บน "พื้นที่เสมือน"
- การมีทีมข้ามสายงาน
- การมี KS Event
KA - Knowledge Assets & Core Competence- มีการจดบันทึกวิธีทำงานที่ให้ผลยอดเยี่ยมเป็น KA
- มีการรวบรวม KA เพื่อการบรรลุงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งและสังเคราะห์เป็น Core Competence
- มีการจัดทำ KA & CC เป็น knowledge base ให้สมาชิกขององค์กรเข้าถึงได้ง่าย
- มีการ reuse KA & CC ซ้ำ ๆ และ update KA & CC
ผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ของงาน- ผลสัมฤทธิ์ส่วนใดที่น่าชื่นชมและเป็นผลจาก KM เป็นปัจจัยหลัก
- ผลสัมฤทธิ์ส่วนใดที่ยังไม่ดีนัก และ KM น่าจะช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ได้
ผมอ่านทบทวนดูแล้วความเห็นของผมคงจะทำให้ อ.จิรัชฌายิ่งงง จึงลองกลับไป Comment ข้อเขียนของ อ. จิรัชฌาบ้าง
- ที่หน้า 6 ข้อ 2.1 คน ข้อ 1 บุคลากรมีทักษะพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ น่าจะเติม "และการสื่อสารผ่าน ICT" คือใช้คอมพิวเตอร์เก่ง แต่ไม่เขียนบล็อก ไม่ใช้ ICT ในการ ลปรร.ก็ไม่เอื้อต่อ KM
ข้อ 2 บุคลากรมีทักษะพื้นฐานด้านการสื่อสาร ผมเติม
- การฟังโดยไม่ตัดสิน
- การเล่าเรื่อง
- การเล่าความคิดโดยไม่กังวลว่าจะถูกหรือผิด
- การคิดเชิงบวก
- การแสดงความชื่นชมยินดี
- การจดบันทึกบล็อก
- หน้า 6 ข้อ 2.2 โครงสร้างพื้นฐาน
1) โครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศ ควรมีข้อบ่งชี้คือระบบ ICT เหมาะสมต่อระดับความสามารถในการใช้ ICT ของบุคลากร คือ ICT ดีแต่คนใช้ไม่เป็น ก็ไม่มีประโยชน์กลับหมดเปลืองด้วยซ้ำ
2) โครงสร้างพื้นฐานทางการจัดการความรู้ ควรเพิ่มข้อ 7 ฐานความรู้ในลักษณะ Yellow Pages บอกความรู้ความสามารถพิเศษของบุคคลและสถานที่ติดต่อ
- หน้า 8 องค์ประกอบที่ 6 การประเมินผลงาน ควรคิดถึงปัจจัยต่อไปนี้
- การประเมินผลสัมฤทธิ์ของทีมงานและของบุคคล
- การประเมินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ถือ KS เป็นผลงานอย่างหนึ่ง)
- KA & CC ที่บันทึกไว้ให้แก่หน่วยงาน
- หน้า 8 องค์ประกอบที่ 5 การสร้างแรงจูงใจ/การตอบแทน ควรพิจารณาการตอบแทนใน 2 แบบประกอบกันคือ ผลงานของกลุ่มกับผลงานของบุคคล
- หน้า 10 ข้อ 3.2 การจัดกระบวนการทำงาน ควรพิจารณาการจัดรูปแบบการทำงานแบบ Task Force โดยมีทีมข้ามสายงาน
- หน้า 10 ข้อ 3.3 1) การจัดการการเปลี่ยนแปลง ควรพิจารณาการให้รางวัลต่อพฤติกรรม/กิจกรรมที่ช่วยเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรไปในทิศทางที่ต้องการ
ตัวบ่งชี้ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การดำเนินการขจัดอุปสรรค (obstacle) ต่อการ ลปรร. ขจัดอุปสรรคต่อการที่ความรู้ สารสนเทศ และข้อมูลจะไหลเวียนไปทั่วองค์กร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น